top of page
นิพนธ์ รัตนาคม

อะไรคือนกลูกป้อน


นกลูกป้อน

นกลูกป้อน แท้ที่จริงแล้วก็คือ ‘ลูกนก’ นั่นเอง แต่เป็นลูกนกที่เจ้าของหยิบออกมาจาก “รังเพาะ” ด้วยเหตุผลบางประการ เช่น เพื่อลดอัตราการตายเนื่องจากจำนวนลูกนกในครอกนั้นมากเกินไปซึ่งมีผลให้ตัวสุดท้องแย่งอาหารไม่ทันแล้วถูกเหยียบตายอย่างน่าเสียดาย นำมาฝึกให้เชื่อง นำมาขายให้กับผู้ซื้อรายย่อย หรือเพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่นกไข่ครอกต่อไปได้เร็วขึ้น

มีคำเรียกนกลูกป้อนแต่ละไซส์ (ขนาด) แตกต่างกัน ได้แก่

- ไซส์ขนหนัง หมายถึง ลูกนกที่เพิ่งฟักออกจากไข่ได้ไม่นานนัก เส้นขนยังไม่แทงขึ้นมาจึงเห็นเพียงหนังสีแดงหรือชมพู หรืออาจจะมีขนอุยขึ้นคลุมตัว นกขนาดนี้เป็นความท้าทายของนักป้อนมือใหม่ (หรือแม้แต่เซียนนกบางคนยังยอมรับว่ายากมาก) เนื่องจากต้องกำหนดสัดส่วนการชงอาหารให้เหมาะสม แถมยังต้องป้อนบ่อยประมาณวันละ 6-8 มื้อ

- ไซส์ขนหนามหรือขนหลอด ใช้เรียกลูกนกที่เริ่มมีขนแทงออกมาจากลำตัวแล้ว ขนช่วงแรกที่แทงออกมาจะคล้ายหนามเม่น คือเป็นหลอดเล็กๆ เห็นเส้นเลือดอยู่ภายใน หุ้มด้วยเยื่อบาง ๆ นกในระยะนี้อาจเริ่มลืมตา และชูคอเองได้ จึงเหมาะกับนักป้อนนกที่มีทักษะมาบ้างแล้ว

- ไซส์ขนพายหรือขนพู่กัน หมายถึง ลูกนกที่ขนหลอดเริ่มแตกออกมาตั้งแต่ช่วงปลายขนไล่ลงมาถึงโคนขน แต่ขนยังไม่แตกบานมากนัก อายุที่มากขึ้นของนกรุ่นนี้ช่วยเพิ่มโอกาสที่นกจะรอดชีวิตสูงขึ้น และเหมาะสำหรับทั้งฝึกให้เชื่อง และฝึกปล่อยบินอิสระ

- ไซส์ขนคลุม หมายถึง นกที่มีขนขึ้นมาคลุมทั้งตัวแล้ว นกรุ่นนี้จะเริ่มมีบุคลิกของตัวเอง บางตัวอาจเริ่มดูแลตัวเองด้วยการไซ้ขน สนใจสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และเริ่มหัดกินอาหารอื่นๆ เช่น ข้าวโพด ขนมปังได้

- ไซส์กินเป็น คือ นกที่เริ่มกินอาหารด้วยตัวเองได้แล้ว เกาะคอนได้ เริ่มซน ใส่ใจสิ่งรอบตัว ในขณะที่นกบางสายพันธุ์จะเริ่มหัดบินได้ในทันที ผู้เลี้ยงจึงต้องใส่ใจนกในช่วงเวลานี้เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม หากนำนกในรุ่นนี้มาฝึกอาจเชื่องน้อยกว่านกในรุ่นเด็กกว่านี้

ดังนั้น สำหรับนักป้อนนกมือใหม่ ขอแนะนำให้เลือกนกในขนาดขนพู่กันหรือขนพาย ซึ่งเป็นจุดลงตัวระหว่างโอกาสรอดของนกและโอกาสที่นกจะเชื่องได้มากที่สุด

ผู้เขียน : นิพนธ์ รัตนาคม

 

ติดตามบทความใหม่ๆผ่าน LINE ได้ที่ @vitapets (กดปุ่มด้านล่าง)

ดู 14,088 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page