ไรนกคืออะไร ...
ไรนก คือแมลงชนิดหนึ่งมีตัวเล็กมากแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ถ้ามีเยอะแล้วตัวใหญ่ บางครั้งเราจะเห็นวิ่งเป็นตัวอยู่ตามขนนก รอบตาที่มีขนบางๆ ได้ ไรนกมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเข้ม (ดูจากภาพประกอบ)
ตัวไรจะกัดเจาะผิวหนังนก ฝังเขียวกินเลือดนก ยังพบเกาะอยู่ที่ก้านขนอาศัยกินน้ำเลี้ยงบริเวณก้านขนทำให้นกซูปผอมทั้งๆ ที่ยังกินได้ เล่นได้ปกติ มีน้ำหนักตัวลดลง ไรตัวร้ายยังสามารถเข้าไปในถุงลม ทางเดินหายใจ ทำให้ปอดอักเสบและเสียชีวิตในที่สุด บางตัวพบผิวหนังเป็นขุยๆ สีขาวเหมือนรังแค
ไรนก
อาการ
นกที่มีตัวไรรบกวนนั้น จะมีลักษณะขนที่ยุ่ง ไม่เรียบ แต่งตัวตลอดเวลา แต่งตัวทั้งวัน เกา ดึงทึ้งขนตัวเอง ขนร่วง หรืออยู่ๆ ก็สะดุ้งแล้วเกา พบขุยหลุดร่วงตามบริเวณที่นกเกาะแต่งตัว หากเป็นมากจะเป็นลักษณะขนแหว่งเหมือนโดนแทะ บางตัวมีรอยแทะน้อยๆที่ปลายหาง ปลายปีกไม่มาก เราก็จะไม่ทันสังเกต
อีกอย่างที่เรามักมองข้ามไปคือ นกดูปกติ ขนไม่มีรอยแทะแหว่ง ให้สังเกตครับ ถ้านกขนด้านๆ ไม่มันเงา ไม่เรียบ แสดงอาการขนฟู ขนตั้งเป็นระยะๆ นั่นคือนกโดนไรกัด โดนไรรบกวนแล้ว ไรก็จะดูดกินแย่งสารอาหารจากนกไปเรื่อยๆ
ไรนกมาจากไหน
ไรนกมาจากไก่ นกกระจอก นกพิราบ นกเขา แล้วกระโดดเกาะนกที่เราเลี้ยงไว้ ออกไข่ ออกลูกหลานอยู่บนตัวนกเรา แล้วติดแพร่กระจายต่อๆ กันไป เพราะไรนกจะสืบพันธุ์ขยายพันธุ์ ไม่ใช่หายไปได้เอง นกบางตัวมีไรอยู่นานเกาะกินแย่งสารอาหาร น้ำเลี้ยง จากก้านขน ดักกินกันเป็นหมู่บ้านไร บางตัวมีไรไม่มาก แต่ก็ดูดกินสารอาหารจากนกไปได้เรื่อยๆ สังเกตได้ว่านกกินเก่ง กินได้ปกติ แต่ผอมลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ป่วย แต่น้ำหนักลด การติดต่อกันของไรจะเป็นเหมือนการติดของปรสิตภายนอกทั่วไปคือ การอยู่ใกล้กันจะติดกัน การอาบน้ำของนกที่ลงเล่นน้ำในถ้วยน้ำใบเดียวกัน เมื่อนำนกใหม่เข้าบ้านบ้านต้องสังเกตลักษณะภายนอกนกมีมีอาการดังกล่าวหรือไม่
Case study กรณีศึกษาและวิธีการรักษา
เจ้า “อีสเตอร์” นกที่บ้าน ซันคอนัวร์ วัย 4 เดือน เพิ่งรับมาไม่นาน ผอมมาก น้ำหนักน้อย ดูอาการอื่นๆ แล้วไม่ป่วย สุขภาพทั่วไปดี กินเก่ง ย่อยเร็ว ไม่มีปัญหาอื่นๆ สัปดาห์แรกเสริมวิตามินให้ และป้อนบ่อยๆ มื้อ เพื่อเสริมให้น้ำหนักขึ้น แต่น้ำหนักไม่ขึ้น ขนพองฟูบ่อยๆ เกาขนบ่อย ขนไม่มันเงา ออกสีด้านๆ ไม่เรียบ ขนยุ่งฟู คิดว่าคงมีปัญหาผิวหนัง เพราะเคยพบลักษณะเช่นนี้ จึงพาไป โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปถึงหมอชั่งน้ำหนัก จับนอนหงาย ตรวจวินิจฉัยขั้นต้นว่าน่าจะเป็นไรขน จึงเอาสก็อตเทปแปะบริเวณท้องอีสเตอร์ ดูที่ขนบริเวณท้องและก้นพบไรเรียงตัวกันเป็นเกล็ดแถวๆ ผมได้ก้มลงไปดูด้วย สยองมากๆ เห็นเป็นหมู่บ้านไรเลยทีเดียว หมอนำสก็อตเทปแปะและลอกออกไปส่องกล้อง จุลทรรศน์ พบไรขนชัดเจนอยู่กันเป็นกระจุก ขนลุกมากๆ หมอทำการรักษาโดยหยดยาเข้าตรงผิวหนังช่วงคอ 1 เข็มเล็ก จากนั้นให้กลับมารักษาต่อที่บ้าน โดยจ่ายยา Vomex ให้นำยากำจัดไรมาหยดที่บริเวณท้ายทอยหลังศรีษะนก และทำการหยดทั้งหมด 3 ครั้ง เว้นครั้งละ 2 สัปดาห์ พร้อมนัดอีก 2 สัปดาห์ให้พามาพบใหม่ เพื่อตรวจว่าไรยังอยู่หรือไม่ แค่ไหน เพราะการรักษาต้องต่อเนื่องกำจัดตัวไรแล้ว ไข่ยังอยู่ฟักออกมาก็ระบาดได้ใหม่อีก ส่วนตัวอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ถ้ายังไม่มีอาการแสดง ให้ใช้ทรายอาบน้ำนก ให้นกเล่นน้ำไรก็จะหลุดไป
กินเก่ง แต่ผอมมากสำหรับนกวัย 4 เดือน
หัวฟู ขนด้าน ขนยุ่งไม่เรียบ ไม่เป็นมันเงา
ขนขึ้นไม่เต็ม
ภาพตัวไรที่เอามือถือถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ ที่หมอนำไปตรวจ ไรยั้วเยี้ย เยอะมาก
ผลการรักษา
อีสเตอร์กินเก่งขึ้น ขนไม่พองฟู ไม่แต่งตัวบ่อยๆ ตลอดทั้งวัน ขนเริ่มเรียบสวยเป็นมันเงา แล้วที่ดีที่สุดคือ เจ้าอีสเตอร์ร่าเริงขึ้นมาก น้ำหนักตัวขึ้นตัวโตขึ้น
เจ้า “ใบเตย” กรีนชีคคอนัวร์ วัย 1 ปีกว่าๆ เพิ่งรับเข้าบ้านมาจากการสั่งซื้อโดยไม่เห็นตัวนก ไปรับจากรถทัวร์พอกลับบ้านเปิดกล่องมา เห็นนกตัวเล็ก ผอม ขนยุ่ง มีรอยกัดแทะชนิดเยิน! ขนาดโตเต็มวัย เป็นปีแล้วแต่ตัวเท่านี้ วันรุ่งขึ้นพาไปหาหมอตรวจสุขภาพทันที ไม่ได้คิดว่าเกิดจากไรนกในครั้งแรก คิดว่าเป็นโรคผิวหนัง หรือโรคอื่นๆ หรือเปล่า เพราะเยินสุดๆ ไปหาหมอเช็คปรากฏว่า เป็นไรตัวร้ายทำให้ใบเตยเป็นได้ขนาดนี้ครับ วิธีดูแลรักษาเหมือนกับเจ้าอีสเตอร์ ตอนนี้ขนขึ้นเกือบเต็มแล้ว ร่าเริง อีก 5 วันครบกำหนดที่หมอนัดแล้ว
ด้านหลังของเจ้าใบเตย ขนยับเยินมากๆ
ปลายปีกมีรอยกัดแทะ
ตอนตรวจรักษา
ไรเกาะรอบท้องเป็นเส้น และไปหลบอยู่รอบรูทวารนก
ขนขาดวิ่นๆ เป็นรอยแทะ
ด้านหน้า
ส่วนนกอื่นๆ ค็อกคาเทล, เลิฟเบิร์ด, ฟินซ์ 4 สี,เกรย์,ฯลฯ พูดง่ายๆ คือรวมนกสวยงามทุกชนิดที่เราเลี้ยง มีโอกาสเจอไรนกครับ การป้องกันต้มน้ำตะไคร้ให้นกอาบ และฉีดพ่นบริเวณกรง รอบๆ ที่อยู่ของเค้า หากพบนกที่เป็นเล็กน้อย ปลายขนมีรอยแทะ ให้ใช้ยากำจัดไร หยดที่หลังนก 1-2 หยด อายุยาอยู่ไปได้ 2 อาทิตย์ครับ แต่เน้นว่าวิธีการหยดยา เมื่อไรหมดไปแล้วให้หยุดยาครับ ข้อควรระวังยากำจัดตัวไร อย่าให้เข้าปากนกครับ เพราะเป็นอันตราย นอกนั้นวิธีกำจัดไร ป้องกัน การอาบน้ำนกด้วยสูตรต่างๆ มีข้อมูลมากมายอยู่แล้วจึงไม่ขอลงรายละเอียดลึก วันนี้จึงขอนำความรู้จากประสบการณ์ที่พบมาแบ่งปันเพื่อนๆ ผู้ชื่นชอบการเลี้ยงนกสวยงาม คงมีประโยชน์ที่ท่านจะนำไปสังเกตนกที่เลี้ยงอยู่ไม่มากก็น้อยนะครับ
ผู้เขียน : สุปรีชา กลิ่นพูน
ติดตามบทความใหม่ๆผ่าน LINE ได้ที่ @vitapets (กดปุ่มด้านล่าง)
Comments